Art Talk


ครูอุ๋ยคุยศิลปะ - ชวนไปวาดภาพสะพานไม้ที่เชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย มีทั้งธรรมชาติและความเป็นเมืองใหญ่ที่สะดวกสบาย เชียงใหม่จึงเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ผมชอบ ครั้งแรกที่ได้ไปแอ่วเชียงใหม่เห็นจะเป็นตอนอายุ 18 ปี ตอนนั้นเพิ่งเริ่มเข้าศึกษาศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา หลังจากนั้นเชียงใหม่ก็เป็นเมืองที่อยู่ในใจของผมตลอดมา ภาพสะพานไม้ที่กำลังจะชวนให้วาดนี้ ไม่ได้วาดตอนอายุ 18 นะครับแต่วาดเมื่อฤดูร้อนตอนอายุเข้าหลักสี่แล้ว แม้จะเป็นฤดูร้อน แต่รีสอร์ทที่ชื่อ "อุทยานล้านนา" กลับมีความชุ่มเย็นเหมือนฤดูหนาว อาจเพราะตั้งอยู่ในหุบเขาที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเพียงอึดใจ เวลากลางคืนก็หลับสบายโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลม กลางวันอากาศเย็นสบาย ขนาดฤดูร้อนยังเย็นสบายอย่างนี้ ถ้าได้มาเยือนในฤดูหนาวลองคิดดูสิครับว่าจะสุขเพียงใด สะพานไม้ที่เห็นในภาพนี้ทอดตัวข้ามลำห้วยเล็กๆ ที่ยังมีชาวบ้านพากันมาจับปลาในตอนบ่าย สิ่งที่ต้องระวังเมื่อจะวาดภาพนี้ก็คือสะพานนั่นเอง ด้วยมันเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น มีรูปทรงที่แน่นอน และมีกฎของทัศนียภาพ (perspective) เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือมันทอดตัวลึกเข้าไปในภาพ ด้วยมุมมองตรงนี้เราจึงเห็นภาพลวงตาคือเส้นของพื้นสะพานจะพยายามวิ่งเข้าไปรวมกันที่จุดรวมสายตา (varnishing point) บนเส้นระดับตา (horizontal line)
การศึกษาเรื่องหลักทัศนียภาพให้เข้าใจ เป็นเรื่องที่ดีในการวาดรูป แต่หากคุณไม่อยากศึกษามันอย่างเป็น การเป็นงานมากนัก ก็ให้สังเกตเอาก็ได้ สังเกตทางรถไฟ บันได สะพาน ตึกรามบ้านช่อง เส้นทุกเส้นที่วิ่งขนานกัน ถ้ามันวิ่งลึกเข้าไปหรือไกลออกไป มันจะพยายามวิ่งเข้าไปรวมกัน ที่จุดใดจุดหนึ่งเสมอ เมื่อเราสังเกตบ่อยๆ และฝึกวาดบ่อยๆ โดยไม่เบื่อเสียก่อนก็จะเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ และวาดได้ถูกต้องในที่สุด
ขั้นตอนที่ 1 เนื่องจากภาพนี้มีองค์ประกอบที่ ค่อนข้างแน่นอน คือรูปทรงของสะพานไม้ ที่ไม่อิสระเหมือนภูเขา และมีตำแหน่ง (position) ของวัตถุต่างๆ อยู่ในจุดที่ตายตัว เช่น ต้นลั่นทม และถังน้ำมันที่วางอยู่ด้านข้าง การร่างภาพแบบหยาบๆ จึงออกจะเป็นการเสี่ยงอยู่สักหน่อย ผมจึงใช้วิธีร่างรูปให้ชัดเจนเสียก่อน โดยใช้ดินสอดำธรรมดาขึ้นรูปคร่าวๆ จากนั้นจึงใช้ปากกาไวท์บอร์ด สีดำชนิดหัวแหลมลงเส้น ที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเวลาลงสีในขั้นแรกๆ เราจะได้ยังมองเห็นภาพที่ร่างไว้ ไม่ถูกสีกลบทับไปเสียก่อน โปรดสังเกตว่า ถังน้ำมันที่วางอยู่ข้างๆ ต้นลั่นทมนั่นมันไม่สุนทรีย์เอาเสียเลย ผมจึงเปลี่ยนมันเป็นตุ่มน้ำ ซึ่งดูแล้วได้อารมณ์แบบชาวบ้านมากกว่่า
ขั้นตอนที่ 2 ผสมสีอะครีลิค อัมสเตอร์ดัม ให้ใสๆ เหมือนสีน้ำ ใช้แปรงแบนขนาดใหญ่ ระบายสีโดยรวมให้ทั่วทั้งภาพ จะเรียกว่าเป็นการจองพื้นที่ของสีก็ได้ ตรงไหนสีอะไรก็ระบายสีนั้นลงไปให้เต็ม อย่าเว้นไว้
ขั้นตอนที่ 3 ผสมสีให้ใกล้เคียงกับ บรรยากาศของภาพมากที่สุด ใช้พู่กันแบนขนาดกลางค่อยๆ ระบายไปจนทั่ว พยายามจับสี น้ำหนัก บรรยากาศ แล้วเกลี่ยให้กลมกลืนกันทั้งภาพ ตรงไหนมีน้ำหนักเข้ม ตรงไหนมีน้ำหนักอ่อน สีตรงไหนควรจะหม่น ตรงไหนควรจะสด ควรคุมให้ได้ในขั้นตอนนี้
ขั้นตอนที่ 4 เน้นน้ำหนักของภาพ ให้ชัดเจนขึ้นด้วยพู่กันกลม ที่มีขนาดเล็กลง โดยเริ่มจากต้นลั่นทมและตุ่มน้ำก่อน จากนั้นก็เน้นเรื่อยไปจนทั่วทั้งภาพ โปรดสังเกตว่าในขั้นตอนนี้ จะมีการโชว์ฝีแปรงแล้ว (ฝีแปรง : brush stroke หมายถึงร่องรอยของสีที่ถูกระบายลงบนภาพ
ขั้นตอนที่ 5 เขียน อาจจะเป็นทางยาว เป็นก้อนนูนหนา เป็นขีด เป็นริ้ว หรือแต้มเป็นจุดๆ ก็ได้) การเน้นน้ำหนักของจิตรกรรม ไม่ได้หมายถึงการกด ให้น้ำหนักของภาพเข้มขึ้นในบริเวณเงา เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการขับเน้น ในส่วนของแสงสว่างให้สดใสกระจ่างชัดมากขึ้น ด้วย
ขั้นตอนที่ 6 เป็นขั้นตอนสุดท้าย ฝรั่งเรียกว่า final touch หรือ varnishing touch คนไทยเราเรียกว่า การแต่งรูปหรือการเน้นก่อนเซ็นชื่อ โดยใช้พูกันกลมขนาดเล็ก ผสมสีที่อยากแต่งเติม แตะแต้มไปตามจุดต่างๆ ของภาพ รวมไปถึงการขับเน้นแสงและเงา เป็นครั้งสุดท้ายด้วย โดยเฉพาะแสงสว่างจัดๆ ที่เป็นจุดเด่นของภาพ (high light) จากนั้น ดูความเรียบร้อยอีกครั้งภาพ จึงเสร็จสมบูรณ์





massger